วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

เทคโนโลยีชีวภาพกับการเกษตร



เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) คือการใช้เทคนิค หรือกระบวนการต่างในการนำสิ่งมีชีวิต ชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรมอาหาร และด้านการแพทย์ โดยเทคโนโลยีชีวภาพนี้ได้มีความเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ ชีววิทยา จุลชีววิทยา พันธุศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น หากมองกันอย่างเป็นกลางแล้วจะเห็นได้ว่าบ้านเราเองมีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้ติดต่อกับโลกตะวันตกด้วยซ้ำไป เช่นการทำน้ำปลา การทำซีอิ้ว การหมักปลาร้า การหมักเหล้า สาโท และกระแช่ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิมทั้งสิ้น แต่ไม่ได้มีการอธิบายให้มีความกระจ่างในแง่วิชาการหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้มีความเข้าใจกันก็เท่านั้น

เทคโนโลยีชีวภาพกับการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพที่มีการใช้เพื่อการเกษตรมีหลากหลายชนิดที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีความต้านทานต่อศัตรูพืช โรคพืช การเพิ่มความทนทานของพืชต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมของภูมิประเทศ เช่นความแห้งแล้ง อุทกภัย การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคเพื่อการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการขยายพันธุ์กล้วยไม้ การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการปักแชกันให้ยาวนานขึ้นและมีกลิ่นหอม การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี การขยายพันธุ์โคนมที่ให้น้ำนมสูงโดยการปฏิสนธิในหลอดแก้ว และการย้ายฝากตัวอ่อน การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรที่มีราคาถูกเป็นพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนี้สำหรับการเกษตรด้านที่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมได้มีการนำเอาจุลินทรีย์เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช หรือกระทั่งการใช้เชื้อจุลินทรีย์มาใช้สำหรับการกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่นแบคทีเรียบีที หรือไวรัสเอ็นพีวี



การเกษตรที่อาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์หรือการพัฒนาพันธุ์ให้มีคุณสมบัติตามต้องการ สามารถทนต่อดินฟ้าอากาศได้ดีขึ้น ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีขึ้น หรือมีคุณค่างทางโภชนาการมากขึ้น ทุกขั้นตอนในการศึกษาจะต้องสามารถอ้างอิงได้ตามมาตรฐานสากล และมีระบบการดูแลอย่างใกล้ชิด และเมื่อมีข้อสรุปได้ว่าสิ่งที่ทดลองนั้นมีความปลอดภัยเท่ากับพืชเปรียบเทียบต่อสิ่งมีชีวิต คน และสิ่งแวดล้อม จึงจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ เช่นกรณีไวรัสใบด่างของมะละกอซึ่งมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ อันส่งผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมากไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงมีการใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพันธุวิศวกรรมเพื่อการดัดแปรมะละกอให้มีความต้านทานต่อโรคไวรัส แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องที่ว่ามะละกอพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคไวรัสนั้นจะมีผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรหรือไม่ ซึ่งไม่สามารถได้ข้อสรุปมาเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนของการทดสอบในสภาพปลูกจริงได้ เนื่องจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติงานกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีชีวภาพ (ดรุณี, 2546)


นาโนเทคโนโลยีคือ วิทยาการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีขนาดเล็ก 10- 9 เท่าโดยมีความเกี่ยวข้องและครอบคลุมในทุกสาขาวิชาทางด้านการเกษตร สำหรับประเทศไทยแล้วมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าควรที่จะเร่งให้มีการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร และมีความหลากหลายทางชีวภาพ กอปรกับเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547-2554 ในการที่จะมีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งเราจะต้องมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าการเกษตรให้ตรงกับมาตรฐานสากล เพื่อที่จะได้เร่งการส่งออกและไม่ถูกกีดกัน และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาเดียวกันในภาพรวมของนาโนเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย


ข้าว นาโนเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะที่ดีตรงตามความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่นคุณภาพการหุงต้น หอม ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ทนต่อน้ำท่วม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง


การเพาะเลี้ยงกุ้งและการประมง การที่กุ้งแช่แข็งมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการส่งออกของประเทศไทย ทำรายได้ให้ไม่ต่ำหว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี แต่เพราะปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสทำให้มีความสูญเสียผลผลิต ดังนั้นจึงมีการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และยังค้นพบวิธีการสร้างฟองอากาศนาโนที่มีความคงตัวสูง แตกตัวได้ยาก เก็บกักโอโซฯไว้ได้นาน ทำให้เป็นแหล่งออกซิเจนให้กับสัตว์น้ำ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออุตสาหกรรมประมงต่อไปได้


ยางพารา เนื่องจากความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกนั้นมีความต้องการที่สูง แต่อาจจะมีการลดลงได้ หากอุตสาหกรรมหันไปให้ความสนใจกับยางเทียม ซึ่งประเทศที่ส่งออกยางธรรมชาติจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน ในประเทศไทยจึงได้มีการเพิ่มมูลค่าของยางธรรมชาติโดยใช้นาโนเทคโนโลยี ได้แก่ การสร้างถุงมือยางธรรมชาติที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้โดยการบรรจุนาโนแคปซูลของยาฆ่าเชื้อไว้ในเนื้อถุงมือยาง

การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ปัญหาดินเค็มมากกว่า 17 ล้านไร่ใน 17 จังหวัดที่กำลังขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตลดลง 2-3 เท่า จึงได้มีการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาปรับปรุงสภาพดินเค็มโดยการนำสารละลายคาร์โบเนียมที่สังเคราะห์ขึ้นโดยนาโนเทคโนโลยีไปฉีดพ่นที่ดิน จะเกิดปฏิกิริยาดูดซับเกลือออกจากดิน ทำให้ดินร่วนขึ้น pH เปลี่ยนเป็นกลางเหมาะกับการปลูกพืช รวมทั้งอาจจะสามารถใช้นาโนเทคโนโลยีในการใช้การเกษตรแบบควบคุมสภาวะแวดล้อมที่มีระบบการตรวจวัดสภาพของพืชผลที่ดี ทำให้สามารถประเมินลักษณะของพืชผล และสามารถบริหารจัดการพืชปลูกจนประสบความสำเร็จนั่นเอง


ปศุสัตว์ มีการติดตั้งนาโนไบโอเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับเชื้อแบคทีเรียที่โรคในนมไว้กับเครื่องรีดนมวัว ทำให้สามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคในน้ำนมดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ








การเพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตร มีการย่อยสลายวัสดุที่เหลือใช้ในการเกษตรให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นอนุภาคนาโนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถปรับแต่งรสชาติให้เหมือนไขมัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนไขมันในอาหารสุขภาพ สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก (ณัฐพันธุ์, 2547)

ในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมของโลก ปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำลายสภาพแวดล้อมให้เต็มไปด้วยสารพิษตกค้าง คือการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงฉีดพ่นไปบนพืชผักเศรษฐกิจ ซึ่งสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเหล่านั้น นอกจากจะเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้แล้ว บางส่วนยังตกค้างอยู่บนส่วนต่าง ๆ ของพืช บางส่วนตกค้างอยู่ในดิน หรือถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำลำธารใกล้เคียง แนววางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงคือการควบคุมด้วยชีววิธี (Biocontrol) โดยการนำเอาสิ่งมีชีวิตเข้ามาควบคุมสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง แบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีการนำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างแพร่หลายในประเทศคือ บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส (Bacillus thuringiensis) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าบีที (Bt) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ในดินทั่วไป ไป สามารถสร้างผลึกโปรตีนที่มีความเป็นพิษต่อหนอนแมลง และลูกน้ำยุงอย่างมีความจำเพาะเจาะจง ไม่มีผลข้างเคียงต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ในต่างประเทศมีบริษัทหลายบริษัทดำเนินการผลิตบีทีในรูปผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่าย สำหรับประเทศไทย บริษัททีเอฟไอ กรีนไบโอเทค เป็นบริษัทหนึ่งที่ริเริ่มดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์บีทีในระดับอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ (ฝ่าย พัฒนาธุรกิจและกฎหมายเทคโนโลยีชีวภาพ, 2548)

การปลูกหอมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จะได้ผลผลิตประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท แต่หนอนกระทู้หอมก็สร้างปัญหาให้เป็นอย่างมาก จากวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมคือการใช้สารเคมีแทบจะทุกชนิดที่มีประกาศโฆษณาว่าใช้ได้ดี แต่กลับพบว่าหนอนมีกระทู้หอมมีการดื้อยามากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการเปลี่ยนชนิดสารเคมีที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงต้องจ่ายแพงขึ้นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย หน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ไบโอเทคร่วมกับกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้เชื้อไวรัสเอ็น พี วี เพื่อควบคุมหนอนกระทู้หอม ไวรัสเอ็น พี วี (Nuclear Polyhedrosis Virus, NPV) เป็นไวรัสในรรมชาติที่ทำให้หนอนเป็นโรคและตายเมื่อหนอนกินไวรัสที่เราพ่นไว้บนใบหอมเข้าไป เชื้อจะเข้าสู่กระเพาะอาหารของหนอน อนุภาคไวรัสจะเริ่มทำลายเซลล์ผนังกระเพาะอาหารก่อน แล้วจึงขยายพันธุ์ทวีจำนวนมากขึ้น และแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวของหนอน ทำลายอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ เช่น เม็ดเลือก ไขมัน กล้ามเนื้อ และผนังลำตัว เป็นต้น กระทั่งทำให้หนอนตายในที่สุด ซึ่งไวรัสนี้ได้รับการทดสอบแล้วว่ามีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งนี้เชื้อไวรัสเอ็น พี วีนั้นมีความเจาะจงกับเป้าหมายมาก โดยจะเลือกทำลายเฉพาะหนอนกระทู้หอม โดยไม่มีผลต่อแมลงศัตรูพืชชนิดอื่น อย่างไรก็ตามต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรว่าชีวินทรีย์สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และต้องชี้ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ระยะยาวของการใช้เชื้อชีวินทรีย์ โดยเฉพาะความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภค (สัมฤทธิ์, 2546)

การที่นักวิจัยของไบโอเทคได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ผลิตขิงของไทย โดยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ามาเพื่อการผลิตท่อนพันธุ์ขิงปลอดโรค เป็นขิงที่มีหัวขนาดเล็กกว่าเดิม และใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวเพียง 3 เดือน จากเดิมที่เกษตรต้องใช้เวลา 8 เดือนกว่าที่จะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งถือเป็นมูลค่าใหม่ที่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามา ทั้งยังสามารถส่งขายต่างประเทศเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ (มติชนสุดสัปดาห์, 2545)
ในการวิจัยเพื่อการเกษตรโดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพนั้นเพื่อการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ เช่นการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้ได้หัวมากมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง หรือข้าวโพดฝักอ่อนให้มีจำนวนฝักต่อต้นมากกว่าหนึ่ง และให้มีความหวานและฝักน้ำหนักดี(ที่มา : Piyawuti et al., 2003 and Chokchai et al.,, 2003)



กุ้งของประเทศไทยถือได้ว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และราคาสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากประเทศไทยได้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในหลากหลายด้าน อย่างหนึ่งที่มีความสำคัญคือการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพช่วยในการสร้างศักยภาพในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยง เริ่มจากการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้ง จนสามารถได้พ่อแม่พันธุ์ในรุ่นที่ 7 ที่มีลักษณะคล้ายกับกุ้งในธรรมชาติ และสามาถนำไปสู่การเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในเชิงพาณิชย์ได้ ต่อมาก็มีโครงการที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสในกุ้งกุลาดำที่มีประสิทธิภาพทำให้สามารถหยุดยั้งปัญหาดรคระบาดได้ทันที ก่อนที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ และการวิจัยที่เกี่ยวกับการวิจัยยีนในระบบภูมิคุ้มกันในกุ้งกุลาดำเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้การแก้ปัญหาการเกิดโรคระบาดกับกุ้งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาวิธีการควบคุม และป้องกันโรคในกุ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต (กองบรรณาธิการ, 2547)



ประเทศไทยได้อะไรจากเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตร จากพื้นฐานความเข้มแข็งทางด้านการเกษตรและทรัพยากรที่มีความหลากหลายในประเทศไทย เทคโนโลยีชีวภาพจึงกลายเป็นความสำคัญสำหรับการปรับปรุงพันธุ์พืช และสัตว์ ให้มีคุณสมบัติได้ตามที่ต้องการ เพื่อการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการเปลี่ยนวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดมูลค่าสูงสุด เพื่อเป็นการเพิ่มสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก เช่นข้าว ที่ต้องมีการเร่งผลิตให้ได้พันธุ์ที่สามารถให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและมีความต้านทานต่อโรค ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันในจุดนี้ได้แล้ว ผลเสียก็จะมาตกอยู่กับภาคการเกษตรอย่างหลีกไม่พ้น เทคโนโลยีชีวภาพนั้นเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นครั้งคราว ดังจะเห็นได้จากโครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง โดยการวินิจฉัยโรคกุ้ง ทำให้สามารถป้องกันการระบาดของโรคไวรัสในกุ้งอย่างรุนแรงในปี 2540 ได้สำเร็จ และสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ปลอดจากเชื้อมาเพาะเลี้ยงส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น คิดเป็นกำไรกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท หมายความว่าในปีหนึ่ง ๆ ชาติได้กำไรคิดเป็น 1,000 เท่าต่อจำนวนเงินวิจัยในโครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งในแต่ละปี และในด้านสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพได้เข้ามามีบทบาทในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคัดเลือกพันธุ์พืชทนเค็ม ทำให้พลิกฟื้นพื้นที่ที่เสื่อมโทรมจากการทำเกลือสินเธาร์ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว และคืนความชุ่มชื้นให้กับชุมชนได้สำเร็จ




การที่ประสิทธิภาพในการผลิตข้าวของประเทศไทยอยู่ที่ 70% ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามูลเหตุของความตกต่ำอยู่ที่โรค แมลงและสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นกรณีโรคใบไหม้ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้เพื่อการรวบรวมเชื้อสาเหตุโรคใบไหม้ในประเทศไทย รวมทั้งลักษณะและความรุนแรงเพื่อที่จะได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความทนทานต่อโรคนี้ หรือในกรณีที่ได้มีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้สำเร็จ และนักวิจัยกำลังใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อมองหายีนที่เกี่ยวข้องกับการทนแล้ง เพื่อจะพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้สามารถทนแล้ง (Drought tolerance) และให้ผลผลิตที่ดีได้ รวมทั้งการหายีนที่เกี่ยวข้องกับการทนน้ำท่วม (Submergence tolerance) เพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนน้ำท่วมต่อไป (วัชริน และศิริพร, 2546)

ในด้านการเกษตรนั้นการที่สามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (การเพาะเลี้ยงอับละอองเรณู) ของข้าวหอมดอกมะลิ 105 กับข้าวเจ้าหอมนิล ทำให้ได้ข้าวลูกผสมที่มีวิตามัน แร่ธาตุ และโรตีนสูงเหมือนข้าวเจ้าหอมนิล แต่มีกลิ่นหอม รสชาตินุ่มนวลเหมือนข้าวหอมมะลิในระยะเวลาที่สั้นกว่าหลายเท่าตัว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ใช่น้อย ซึ่งหมายถึงการสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติเช่นเดียวกัน (ศิรศักดิ์ , 2546)

เมื่อเกิดคำถามว่า สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกซึ่งมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากทุกที ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางเลือกหรือการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเข้ามาหรือไม่ ขณะที่ประเทศไทยกำลังเหงื่อเข้าตาอยู่นั้น สถาบันวิจัยซุนยัดเซ็นจากประเทศจีนได้เข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยทดลองปลูกสบู่ดำเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิตพืชพลังงานทดแทนไปโอดีเซล โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการคัดเลือกหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรเองก็ได้เริ่มที่จะส่งเสริมและทดลองสบู่ดำหลายสายพันธุ์ในแปลงของเกษตรกร แต่ยังต้องรอผลสรุปของการหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไป เพราะการใช้สบู่ดำเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงนั้นจะต้องให้ได้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1 กิโลกรัมต่อปีจึงจะมีความคุ้มค่า นอกจากนี้เกษตรกรได้ให้ความสนใจในการปลูกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจด้านราคาและการรับซื้อ นอกจากนี้ภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนโรงงานผลิตไบโอดีเซลสบู่ดำก็ยังไม่มีความชัดเจนด้านปริมาณวัตถุดิบเพียงพอที่จะทำให้คุ้มทุน (http://www.manager.co.th/, 2548)


กุ้งแห้งไทยจะมีคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น หากนำความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นคำกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อพบว่าการผลิตกุ้งแห้งของไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพในกระบวนการผลิต เช่น สี เนื้อสัมผัสของกุ้งแห้งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ตลอดจนลักษณะกุ้งแห้งไม่ได้มาตรฐานหลังจากการอบแล้ว ไบโอเทคจึงได้จัดการสัมมนาขึ้นในหัวข้อ “การพัฒนาคุณภาพการผลิตกุ้งแห้งสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก” เพื่อมุ่งเน้นที่จะยกระดับกระบวนการผลิตกุ้งแห้งของไทยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสีกุ้งแห้งให้เป็นธรรมชาติโดยการใช้กรดซิตริก การยืดอายุการเก็บรักษากุ้งแห้งโดยใช้ถุงลามิเนต การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกุ้งแห้งโดยเจสเปาท์เตดเบด ซึ่งเป็นเครื่องทำแห้งในรูปแบบใหม่ ซึ่งต่างจากแบบเดิมที่จะเป็นการตากแดด ทั้งนั้นและทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้วิธีการเหล่านี้ในการยกระดับคุณภาพของกระบวนการผลิตกุ้งแห้ง เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตกุ้งแห้งของไทยนั้นมีประสิทธิภาพ (เสาวภา, 2547)

ภาคเอกชนกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในวงการเกษตร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ลงนามร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในด้านการผลิต โดยมีการพัฒนางานวิจัยร่วมกันตั้งแต่เรื่องพันธุ์อ้อย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การขนส่ง และกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวไร่อ้อยและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถที่จะปลูกอ้อย และกระบวนการผลิตน้ำตาลก็มีความยั่งยืน “ที่ผ่านมาปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย และอาศัยปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพเข้ามาใช้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ เมื่อเกิดภัยแล้งจึงทำให้ผลผลิตอ้อยทั้งประเทศในปีการผลิต 2547/2548 ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 25 และส่งผลให้รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยลดลงอย่างมาก การได้ร่วมมือกับ สวทช. จึงเป็นลู่ทางในการพัฒนาให้เกิดประสิทธิผลและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ” นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าว (หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 2548)

(ที่มา : วารสารเทคโนโลยีชีวภาพปริทรรศน์ 1(4):8-9)